หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
HTML-код
- Опубликовано: 13 апр 2025
- ในโลกมีแต่คนหลง คนที่เขาไม่ได้เคยเรียนไม่เคยฝึกจะหลง ส่วนใหญ่ก็หลงไปคิด เวลาตาเห็นรูปก็หลงไปดู สนใจในสิ่งที่มองเห็น มีร่างกายก็ลืมกาย มีใจก็ลืมใจ หลงอันดับ 3 หลง หลงไปฟัง สังเกตง่ายๆ เวลาที่พวกเราดูซีรีส์ เวลาดูซีรีส์ใจก็หลงไปดู บางทีก็หลงไปฟังว่ามันพูดอะไร พอไปดูไปฟัง เราก็ต้องคิด สังเกตดูถ้าเราดูโดยไม่คิดต่อ รับรองไม่สนุก เพราะกิเลสของเราไม่กระเพื่อม ใจเราเฉยๆ เพราะใจเรามันแกว่งขึ้นแกว่งลงตามหลังความคิดมา
อย่างดูซีรีส์แล้วใจเราเฉย ไม่กระเพื่อมหวั่นไหว ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของการแสดง นักแสดงพยายามกระตุ้นให้จิตเราแกว่งขึ้นแกว่งลง ทีนี้ถ้าใจเราไปนั่งเพ่งนิ่งเฉยอยู่ ใจไม่แกว่ง แต่ก็ไม่ใช่ดี หลงมันก็เลยมีที่คนในโลกเขาหลงกัน หลงไปดู หลงไปฟัง หลงไปคิด จิตก็เลยแกว่งขึ้นแกว่งลง เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ร้าย ไปสังเกตให้ดีมันตามหลังการกระทบอารมณ์มา
มีการกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วก็เกิดความรู้สึกสุขรู้สึกทุกข์ขึ้นในใจ กระทบอารมณ์อันนี้พอใจมีความสุข กระทบอารมณ์อันนี้ไม่พอใจมีความทุกข์ อย่างเห็นคนที่เราเกลียดอย่างนี้ ใจเราก็ไม่มีความสุขเจอคนที่เกลียด เจอคนที่รักใจมีความสุขพอใจที่ได้เห็น พอมีความรู้สึกสุขความรู้สึกทุกข์ กิเลสก็จะตามหลังมา เวลามีความรู้สึกสุขก็ยินดีพอใจมีราคะแทรกเข้ามา เวลากระทบอารมณ์แล้วมีความทุกข์ขึ้นมาโทสะก็แทรกไม่พอใจ อยากให้อารมณ์นั้นหมดไปสิ้นไป นี่เป็นกระบวนการที่จิตมันทำงาน ทีนี้คนส่วนใหญ่ไม่เคยเห็น เพราะคนท่านที่ค้นพบศาสตร์ตัวนี้ก็คือพระพุทธเจ้า อันนี้อยู่ในเรื่องของปฏิจจสมุปบาท เป็นกระบวนการที่จิตมันปรุงแต่งความทุกข์ขึ้นมา
จะเริ่มจากพวกเรามีผัสสะ มีการกระทบอารมณ์ เราไม่มีสติกำกับ พอกระทบอารมณ์แล้วใจเรามีความสุขบ้างมีความทุก์บ้าง อันนี้เป็นเรื่องปกติเรียกว่าตัวเวทนาเป็นวิบาก ห้ามมันไม่ได้หรอก ตัวผัสสะก็เป็นวิบาก ห้ามมันไม่ได้ อย่างเราจะเห็นรูปที่พอใจหรือรูปที่ไม่พอใจ เราเลือกไม่ได้ เรามีตาใช่ไหม มันก็เห็นรูปที่ถูกใจบ้างไม่ถูกใจบ้าง เวลากุศลให้ผลมาเราก็เห็นรูปที่ถูกใจ เวลาอกุศลให้ผลมาเราก็เห็นรูปที่ไม่ถูกใจ
ฉะนั้นตัวผัสสะนี่เป็นวิบากเป็นผลของกรรม เราเลือกไม่ได้ว่าเราจะกระทบอารมณ์ที่พอใจหรือไม่พอใจ ทีนี้พอกระทบอารมณ์แล้ว จะเกิดความรู้สึกสุขรู้สึกทุกข์หรือรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์อะไรนี่ เราก็เลือกไม่ได้ จิตมันเป็นไปเอง ฉะนั้นตัวเวทนาก็เป็นวิบากเหมือนกัน ไม่ใช่กิเลส ไม่ใช่กรรม เป็นตัววิบาก ห้ามไม่ได้ สั่งไม่ได้ ถ้าสั่งได้ทุกคนก็สั่งหมดแล้วว่าทุกคราวที่กระทบอารมณ์แล้วจงมีแต่ความสุข ซึ่งสั่งไม่ได้ หรือกระทบอารมณ์แล้วอย่ามีความทุกข์ เราสั่งไม่ได้
ทีนี้พอมีเวทนาแล้วสิ่งที่ตามเวทนามาคือกิเลส กิเลสมักจะแฝง ถ้าเรามีสติรู้ มีผัสสะแล้วเรามีสติอยู่ จิตใจก็จะเป็นสุขหรือทุกข์ก็ได้หรือเป็นอุเบกขาอะไรขึ้นมา เรามีสติรู้ลงไปอีก แต่ถ้าเรามีสติอยู่จริงๆ จิตจะเป็นกุศล จะมีเวทนาได้ 2 อย่าง มีความสุขกับอุเบกขา ส่วนความทุกข์ ทุกข์ทางใจอย่างนี้ เป็นจิตเกิดร่วมกับจิตอกุศลเสมอ เป็นจิตชนิดที่มีโทสะแฝงอยู่
นี่เราค่อยๆ เรียน เราก็จะเห็นว่าเวลามีเวทนาเกิดขึ้น มักจะมีกิเลสตามเวทนามา แทรกตัวตามเวทนามา เพราะคนส่วนใหญ่เขาไม่มีสติ ฉะนั้นเวลากระทบอารมณ์ที่พอใจ ก็เกิดราคะเกิดยินดีพอใจ แต่ถ้าเราเป็นนักปฏิบัติ พอกระทบอารมณ์ที่พอใจ จิตเกิดชอบขึ้นมามีราคะขึ้นมา เรามีสติรู้ทัน กิเลสจะดับ ราคะจะดับ จิตเราก็จะมีความสุขหรือเป็นอุเบกขา เพราะว่าเรามีสติขึ้นมา
ตัวราคะนี่จิตมีความสุขได้ แต่เป็นความสุขที่ปนเปื้อนกิเลส จิตที่เป็นกุศลก็มีความสุขได้ แต่ไม่เปื้อนกิเลส ค่อยๆ ฝึก ค่อยๆ สังเกตจิตใจของเราไปทีละช็อต ทีละช็อต ค่อยๆ เรียน ค่อยๆ รู้ไป เราจะพบว่าพอมีผัสสะก็มีเวทนา พอมีเวทนาแล้วมันมีตัณหา ตัณหาคือความอยาก อย่างพอเรามีผัสสะที่ถูกใจเป็นอารมณ์ที่ชอบใจ จิตใจเรามีความสุขที่ได้สัมผัสอารมณ์นั้น ความยินดีพอใจหรือตัวราคะมักจะแทรก พอราคะมันแทรกเข้ามา เราก็อยากให้อารมณ์ตัวนี้คงอยู่นานๆ นี่เรียกว่าตัณหา ความอยากเกิดขึ้นแล้ว มันตามหลังเวทนามา
อย่างมีความสุขเกิดขึ้น เราก็อยากให้ความสุขอยู่นานๆ อันนี้เรียกว่าภวตัณหา พอความสุขหายไปเราเสียดาย เสียดายอยากให้มันกลับมา อยากได้ความสุขอันนั้นคืนมาอีก อันนี้เรียกว่ากามตัณหา อยากได้อารมณ์ที่ถูกใจ พอได้อารมณ์ที่ถูกใจแล้วอยากให้อารมณ์ที่ถูกใจนี้คงอยู่นานๆ นี่เรียกว่าภวตัณหา แต่พอเรากระทบอารมณ์ที่ไม่ถูกใจ อยากให้มันหมดไปสิ้นไปอันนี้เรียกว่าวิภวตัณหา อยากให้มันจบๆ ไปเร็วๆ อย่างเวลาเราไม่สบาย เราอยากให้มันหายเร็วๆ นี่อยาก มีตัณหา ตัณหานี้อยากให้โรคภัยไข้เจ็บหายเร็วๆ หรือเวลามีเรื่องกลุ้มใจอยากให้หายกลุ้มเร็วๆ มีความอยากเกิดขึ้นแล้ว
พอมีความอยากเกิดขึ้นในใจเรา ความดิ้นรนในใจจะเกิดขึ้น จะเกิดความดิ้นรนปรุงแต่ง มีตัณหาก็จะเกิดการสร้างภพขึ้นมา ภพก็คือการดิ้นรนปรุงแต่งของจิตนั่นล่ะ เป็นภพที่เกิดทั้งวัน พอเรามีความอยากอันนี้เกิดขึ้น ใจเราก็ดิ้นไปตามอำนาจของความอยากนั่นล่ะ อยากได้มาใจก็ดิ้นแสวงหา อยากให้คงอยู่ใจก็ดิ้นที่จะรักษาเอาไว้ อยากให้หมดไปสิ้นไปใจก็พยายามผลักดิ้นรนให้อารมณ์ที่ไม่ดีนั้นหมดไปสิ้นไป
ทีนี้พอใจมีความดิ้นรน ใจเราก็เสียสมดุลแล้ว ใจหลงไปในความปรุงแต่ง สิ่งที่ตามมาคือทุกข์ มีตัณหาเมื่อไรก็มีภพเมื่อนั้น มีภพเมื่อไรก็มีทุกข์เมื่อนั้น ฉะนั้นภพไม่ว่าจะภพดีภพวิเศษแค่ไหนมันก็ทุกข์ ทีนี้พวกเราหัดภาวนาบางทีเราดูยาก ภพบางอย่างมันดูยากว่ามันไม่ดี อย่างเวลาเรานั่งสมาธิจิตเราสงบสบายโล่งว่างมีความสุข เรารู้สึกภพอันนี้ดีติดอกติดใจ ฉะนั้นพวกที่นั่งสมาธิแล้วติดสมาธิ ถ้าจะตายไป ไปเป็นพระพรหม ก็อยู่ในภพที่มีความสุขอยู่อย่างนั้นล่ะ หรือสงบอยู่อย่างนั้น นานจนโลกแตกแล้วแตกอีกก็ยังติดอยู่ตรงนั้นไปไหนไม่ได้ แล้วมองไม่ออกว่าภพที่ละเอียดที่ประณีตที่มีความสุข เอาเข้าจริงมันยังพึ่งพาอาศัยไม่ได้ มันยังแปรปรวนได้อีก
หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
16 มีนาคม 2568